• Map Icon

    ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    239 ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200

ประวัติในยุคเริ่มแรก

  • 2508

    ⚫ หอสมุดกลางในนามของคณะมนุษยศาสตร์ได้จัดให้มีการเรียนการสอนวิชา บร.107: การใช้หนังสือและห้องสมุด (LS107: Use of Books and Library) เพื่อให้ความรู้นักศึกษาเกี่ยวกับการใช้ห้องสมุอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ใช้เวลาในการเรียนสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง (1 หน่วยกิต)

    ⚫ ผู้สอนช่วงในนั้นเป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ คืออาจารย์วิไล ปานพลอย ตำแหน่งอาจารย์โท อาจารย์กรรณิการ์ บุนนาค อาจารย์ตรี และบรรณารักษ์หอสมุดกลางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีก 3 ท่าน

    ⚫ ในขณะนั้นอาจารย์วิไล ปานพลอย นอกจากการสอนแล้วท่านยังดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองห้องสมุดอีกด้วย

    ⚫ ศาสตราจารย์ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และอาจารย์ผู้ร่วมงานทางวิชาการห้องสมุดมีความเห็นพ้องกันว่าน่าจะได้มีการจัดตั้งภาควิชาบรรณารักษศาสตร์เพื่อผลิตบัณฑิตสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่กำลังมีความต้องการอย่างยิ่ง

  • 2507 – 2512

    ศาสตราจารย์ ดร. ม.ล.ตุ้ย ชุมสาย ขอร้องให้ รองศาตราจารย์วิไล ปานพลอยกลับคืนคณะฯ เพื่อเตรียมจัดตั้งภาควิชาบรรณารักษศาสตร์

  • 2511

    ⚫ สภาการศึกษาแห่งชาติอนุมัติการจัดตั้งภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ขึ้นในคณะมนุษยศาสตร์ (ให้การเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2511) และในขณะนั้นท่านก็ยังต้องรับผิดชอบงานหอสมุดกลางอีกด้วย

    ⚫ ภาควิชาเปิดรับนักศึกษาวิชาเอกบรรณารักษ์ศาสตร์ตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2511 (รับโอนนักศึกษารหัส 10) คณาจารย์ในยุคเริ่มแรกนี้มี 3 ท่านได้แก่

    1. อาจารย์วิไล ปานพลอย คุณวุฒิ อบ. อนุปริญญาวิชาบรรณารักษศาสตร์ M.L.S

    2. อาจารย์ฟองนวล สักการเวช คุณวุฒิ กศ.บ. M.A. in L.S.

    3. อาจารย์สุภาพ สุจินดา คุณวุฒิ อบ. อนุปริญญาวิชาบรรณารักษศาสตร์ M.L.S

  • 2514

    คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนได้ลงมติรับรองปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (บรรณารักษศาสตร์) ของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่าเป็นปริญญาซึ่งสามารถบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับราชการตาม6(2) แห่งกฎ ก.พ. ฉบับที่ 622 (พ.ศ. 2513) ตามหนังสือ สร.0903/43923 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2514

  • 2522

    ได้มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วย ปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ไว้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2522 มาตรา 4 ข้อ (6) กำหหนดให้ปริญญาในสาขาวิชาศิลปะศาสตร์ ข้อ (ค) ปริญญาตรีเรียกว่า “ศิลปศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ศศ.บ.” และให้ระบุชื่อวิชาเอกในวงเล็บต่อท้ายปริญญาด้วย ฉะนั้นผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิชาเอกบรรณารักษศาสตร์ จากคณะมนุษยศาสตร์ จึงใช้อักษรย่อว่า ศศ.บ. (บรรณารักษศาสตร์)

  • 2531 – 2540

    การพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีในการเรียนการสอน

    ⚫ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานในโครงการ Updating Information Sciences Education in Thai Universities โดยได้รับงบประมาณสนับสนุน 4 ล้านบาทจาก The International Development Research Centre (IDRC) ประเทศแคนาดาเป็นเวลา 3 ปีระหว่างพ.ศ. 2534-2536

    ⚫ ผลจากโครงการนี้ทำให้คณาจารย์ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ 3 มหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เข้ารับการอบรม ดูงาน ประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ทัศนศึกษาห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ รวมทั้งศึกษาต่อในต่างประเทศ

    ⚫ นอกจากนี้ทั้ง 3 มหาวิทยาลัยดังกล่าวยังได้รับงบประมาณจัดซื้อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นับว่า เป็นสถาบันจัดการเรียนการสอนบรรณารักษศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทยที่มีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ พ.ศ.2534