• Map Icon

    ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    239 ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200

ประวัติในยุคเริ่มแรก

(พ.ศ. 2511-2524)

จุดเริ่มต้นในการจัดตั้งภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2508 หอสมุดกลางในนามของคณะมนุษยศาสตร์ได้จัดให้มีการเรียนการสอนวิชา บร.107: การใช้หนังสือและห้องสมุด (LS107: Use of Books and Library) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อให้ความรู้นักศึกษาเกี่ยวกับการใช้ห้องสมุดเพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้ห้องสมุดอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพโดยให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ใช้เวลาในการเรียนสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง (1 หน่วยกิต) บุคลากรที่รับผิดชอบในการสอนช่วงนั้นเป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ 1 คน (อาจารย์วิไล ปานพลอย ตำแหน่งอาจารย์โท ในระยะนั้น นอกจากการสอนแล้วท่านยังดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองห้องสมุดด้วย) และอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ที่มีวุฒิทางวิชาบรรณารักษศาสตร์ 1 คน (อาจารย์กรรณิการ์ บุนนาค อาจารย์ตรี ในระยะนั้น) นอกนั้นเป็นบรรณารักษ์หอสมุดกลางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีก 3 คน

ศาสตราจารย์ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และอาจารย์ผู้ร่วมงานทางวิชาการห้องสมุดมีความเห็นพ้องกันว่าน่าจะได้มีการจัดตั้งภาควิชาบรรณารักษศาสตร์เพื่อผลิตบัณฑิตสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่กำลังมีความต้องการอย่างยิ่ง (วิไล ปานพลอย, 2524) ศ. ม.ล.ตุ้ย ชุมสาย (2532 อ้างถึงใน รัตนา ณ ลำพูน, 2552) กล่าวไว้ว่า “การจัดให้มีการสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ ขึ้นในคณะมนุษยศาสตร์ก็เพราะบรรณารักษ์มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะดูแลห้องสมุดในประเทศไทย” คำกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริการองค์กรทางการศึกษาเห็นถึงความสำคัญของศาสตร์นี้ เนื่องจากห้องสมุดเป็นแหล่งสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาหรือการยกระดับคุณภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นไปตามหลักคิดประการหนึ่งในการดำเนินงานของคณะมนุษยศาสตร์ประการหนึ่งว่า “สาขาวิชาใดก็ตามที่จะให้คุณภาพของความเป็นมนุษย์สูงขึ้น จะจัดให้มีการสอนขึ้นในคณะมนุษยศาสตร์”

การจัดให้มีการสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ ขึ้นในคณะมนุษยศาสตร์ก็เพราะบรรณารักษ์มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะดูแลห้องสมุดในประเทศไทย

ในช่วงพ.ศ. 2507 – 2512 ศาสตราจารย์ ดร. ม.ล.ตุ้ย ชุมสาย ขอร้องให้ รองศาตราจารย์วิไล ปานพลอยกลับคืนคณะฯ เพื่อเตรียมจัดตั้งภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ และขณะนั้นท่านก็ยังต้องรับผิดชอบงานหอสมุดกลางด้วย จากนั้นสภาการศึกษาแห่งชาติได้อนุมัติการจัดตั้งภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ในคณะมนุษยศาสตร์ โดยให้การเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2511 และตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “การแบ่งภาควิชาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2511 กำหนดให้ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์เป็นภาควิชาหนึ่งในคณะมนุษยศาสตร์ จัดเป็นภาควิชาที่จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 5 ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ในที่สุดภาควิชาสามารถเปิดรับนักศึกษาวิชาเอกบรรณารักษ์ศาสตร์ตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2511 (รับโอนนักศึกษารหัส 10) คณาจารย์ในยุคเริ่มแรกนี้มี 3 ท่านได้แก่

1. อาจารย์วิไล ปานพลอย คุณวุฒิ อบ. อนุปริญญาวิชาบรรณารักษศาสตร์ M.L.S

2. อาจารย์ฟองนวล สักการเวช คุณวุฒิ กศ.บ. M.A. in L.S.

3. อาจารย์สุภาพ สุจินดา คุณวุฒิ อบ. อนุปริญญาวิชาบรรณารักษศาสตร์ M.L.S

พ.ศ. 2514 คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนได้ลงมติรับรองปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (บรรณารักษศาสตร์) ของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่าเป็นปริญญาซึ่งสามารถบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับราชการตาม6(2) แห่งกฎ ก.พ. ฉบับที่ 622 (พ.ศ. 2513) ตามหนังสือ สร.0903/43923 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2514

พ.ศ. 2522 ได้มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วย ปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ไว้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2522 มาตรา 4 ข้อ (6) กำหหนดให้ปริญญาในสาขาวิชาศิลปะศาสตร์ ข้อ (ค) ปริญญาตรีเรียกว่า “ศิลปศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ศศ.บ.” และให้ระบุชื่อวิชาเอกในวงเล็บต่อท้ายปริญญาด้วย ฉะนั้นผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิชาเอกบรรณารักษศาสตร์ จากคณะมนุษยศาสตร์ จึงใช้อักษรย่อว่า ศศ.บ. (บรรณารักษศาสตร์)

พ.ศ. 2524 คณะมนุษยศาสตร์ได้เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาต่าง ๆ รวม 10 สาขาวิชาเอก นักศึกษาสามารถเลือกวิชาอื่น ๆ เป็นวิชารองและวิชาเลือกได้ นักศึกษาสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์เช่นเดียวกันสามารถเลือกเรียนเป็นวิชาอื่น ๆ เป็นวิชารอง และวิชาเลือกเสรีได้

พ.ศ. 2531 – 2540
การพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีในการเรียนการสอน

ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานในโครงการUpdating Information Sciences Education in Thai Universities โดยได้รับงบประมาณสนับสนุน 4 ล้านบาทจาก The International Development Research Centre (IDRC) ประเทศแคนาดาเป็นเวลา 3 ปีระหว่างพ.ศ. 2534-2536 ผลจากโครงการนี้ทำให้คณาจารย์ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ทั้ง 3 มหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เข้ารับการอบรม ดูงาน ประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ทัศนศึกษาห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ รวมทั้งศึกษาต่อในต่างประเทศ นอกจากนี้ทั้ง 3 มหาวิทยาลัยดังกล่าวยังได้รับงบประมาณจัดซื้อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นับว่า เป็นสถาบันจัดการเรียนการสอนบรรณารักษศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทยที่มีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ พ.ศ.2534

พ.ศ.2541-2550
การปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาตรี

สืบเนื่องจากการที่คณาจารย์ของภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ได้มีการเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ ทักษะทางเทคโนโลยีรวมถึงความรู้ทางสารสนเทศศาสตร์ อีกทั้งการมีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของภาควิชาซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าร่วมในโครงการ Updating Information Sciences Education in Thai Universities ภาควิชาฯจึงได้ปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต จากสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์

ปี พ.ศ. 2530 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ ได้มีปรับปรุงใหม่ และผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมกรรมการคณะ ในการประชุมครั้งที่ 13/2529 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2529 ซึ่งขณะนั้นคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ คือ อาจารย์วัฒนะ สุขสมัย เป็นผู้ลงนาม เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2530

ปี พ.ศ. 2543 ปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต โดยเปลี่ยนชื่อสาขาวิชาเป็น สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Bachelor of Arts Program in Information Studies ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะ ในการประชุมครั้งที่ 4/2542 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2542 ขณะนั้น รองศาสตราจารย์ทัศนา สลัดยะนันท์ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ ปฏิบัติราชการแทนคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ เป็นผู้ลงนามเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2542

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา นี้ใช้ชื่อปริญญาดังนี้

ชื่อปริญญาภาษาไทย

ชื่อเต็ม ศิลปศาสตรบัณฑิต (สารสนเทศศึกษา)

ชื่อย่อ ศศ.บ. (สารสนเทศศึกษา)

ชื่อปริญญาภาษาอังกฤษ

ชื่อเต็ม Bachelor of Arts (Information Studies)

ชื่อย่อ B.A. (Information Studies)

หลังจากปรับปรุงหลักสูตรแล้ว Dr. Hwa-Wei Lee ได้ดำเนินการให้ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “ทิศทางกลยุทธ์สำหรับการศึกษาและวิชาชีพสารสนเทศ (Strategic Direction for Information Studies and the Profession) เมื่อวันที่ 17-18 ตุลาคม 2544 ณ โรงแรมปางสวนแก้ว

การจัดประชุมวิชาการนานาชาติ (เอเชีย-แปซิฟิก) ด้านบรรณารักษศาสตร์ และสารสนเทศศาสตร์

ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ OCLC Asia Pacific (Online Computer Library Center Asia Pacific), IFLA Regional Office (Information Federation of Library Associations and Institutions, Regional Office) และมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน (ฟุลไบร์) (Thailand – U.S. Educational Foundation) ได้จัดการประชุมนานาชาติ (เอเชีย-แปซิฟิก) ด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ เรื่อง “ความท้าทายและโอกาสของห้องสมุดและนักวิชาชีพสารสนเทศด้านการจัดการความรู้กับยุคดิจิทัล (Challenge and Opportunities for Library and Information Professional in Knowledge Management and the Digital Age)” เมื่อวันที่ 20-22 มีนาคม 2546 ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่หน่วยงานรับผิดชอบการผลิตบัณฑิตด้านบรรณารักษศาสตร์ องค์กรด้านสารสนเทศ (OCLC และ IFLA) และองค์กรที่สนับสนุนการศึกษา (ฟุลไบร์)ได้จัดประชุมดังกล่าว

การจัดประชุมวิชาการนานาชาติ (เอเชีย-แปซิฟิก) ด้านบรรณารักษศาสตร์ และสารสนเทศศาสตร์

วัตถุประสงค์ของการจัดประชุมครั้งนี้เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่รับผิดชอบการผลิตบัณฑิตด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ สารสนเทศศึกษา การจัดการสารสนเทศ ตลอดจนผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในสถาบันสารสนเทศได้รับทราบแนวโน้มคุณสมบัติของนักสารสนเทศ รวมทั้งการเตรียมการเพื่อพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมในระดับสากล

ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ร่วมกับเครือข่ายสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ จึงได้จัดการประชุมวิชาการระดับชาติเรื่อง “บัณฑิตสารสนเทศสำหรับสังคมฐานความรู้: ความต้องการ คุณภาพ และความคาดหวัง” เมื่อวันที่ 18-19 มีนาคม 2547 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย อาคาร 7 ชั้น 8 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา นายกสภาพจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้เกียรติกรุณาเป็นองค์ปาฐกในการปาฐกถาพิเศษ “สังคมฐานความรู้กับพันธกิจของนักสารสนเทศ” ซึ่งท่านได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของนักสารสนเทศในสังคมฐานความรู้ไว้ว่า

“.... นักสารสนเทศจะมีบทบาทใหม่เพิ่มเติมจากเดิมเป็นอันมาก การดำเนินงานของนักสารสนเทศจะช่วยให้มีการกระจายความรู้ ถึงประชาชน ท่านทั้งหลายต้องสร้างพลังให้แก่นักวิชาการและ นักวิชาชีพ ให้เป็นนักวิชาการและนักวิชาชีพที่ดี แต่ขณะเดียวกัน ต้องสร้างพลังให้แก่ประชาชนด้วย ท่านทั้งหลายที่อยู่ในจุดต่าง ๆ ต้องมีบทบาทนี้ในสังคมสารสนเทศยุคใหม่ ท่านทั้งหลายที่ดูแล ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ขอให้นึกถึงโรงเรียนยากจนที่ห่างไกล ในชนบทด้วย นักสารสนเทศในสังคมความรู้ยุคที่ 2 นี้จะต้องเปิด ใจกว้าง ปรับปฏิสัมพันธ์ให้สามารถอยู่ในระนาบเดียวกับนักวิชาการ นักบริหาร นักจัดการ นักปฏิบัติและบุคคลทั่วไป โดยเข้าร่วมเป็น หุ้นส่วน เป็นพันธมิตรกับผู้อื่น สามารถนำความรู้เฉพาะที่มีเป็นพิเศษ ในด้านของท่านของแต่ลพคนเข้าไปผสมผสานกับผู้อื่น ด้วยความเข้าใจ ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน นักวิชาการต้องเคารพประชาชน ประชาชนต้องเคารพนักวิชาการด้วยกัน จึงจะสามารถเรียนรู้ ไปด้วยกัน ทำให้เกิดองค์กรที่เรียนรู้ร่วมกัน เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ...” (จรัส สุวรรณเวลา, 2547)

พ.ศ. 2551-2557

ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2551 สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้อนุมัติการปรับโครงสร้างองค์กรของคณะมนุษยศาสตร์จาก 11 ภาควิชา เป็น 3 ภาควิชาคือ ภาควิชาภาษาตะวันออก ภาควิชาภาษาตะวันตก และภาควิชามนุษยศาสตร์ ดังนั้นภาควิชาบรรณารักษศาสตร์จึงได้รับการปรับสถานภาพเป็นสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์นับแต่นั้น

ปี พ.ศ. 2556 ภาควิชาฯ ได้ปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา ให้สอดรับและทันกับสถานการณ์ภายนอกและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้พัฒนาไปเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดการขับเครื่องเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา การสร้างสรรค์งาน และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม (Wisdom) และเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ (Technology and Information) ซึ่งประเทศไทยจะต้องตระหนักและเร่งปรับโครงสร้างการผลิตและการบริการอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Creative and Green Economy)

สาขาวิชาสารสนเทศศึกษาจึงวางปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตรไว้ว่า “มุ่งมั่นที่จะสร้างบัณฑิตที่สามารถบูรณาการความรู้ความสามารถในการจัดการสารสนเทศ บริการสารสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้พร้อมที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและคำนึงถึงสังคม และสามารถนำประโยชน์จากที่ได้เรียนรู้ไปใช้อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม”