มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 คณะมนุษยศาสตร์
 ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์
 ติดต่อผู้จัดทำ



ความหมายและประเภทของทรัพยากรสารสนเทศ การพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ การจัดหาทรัพยากรสารสนเทศ คอมพิวเตอร์กับงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ ความร่วมมือระหว่างสถาบันสารสนเทศในด้านการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ
ศูนย์สารสนเทศ (Information Center)


 
            ศูนย์สารสนเทศ  มีชื่อเรียกต่างๆกัน เช่น ศูนย์เอกสาร หรือศูนย์บริการเอกสาร(Documentation Center) ศูนย์สนเทศหรือศูนย์สารนิเทศ (Information Center) ศูนย์ข้อมูล(Data Center) ศูนย์วิเคราะห์สารสนเทศ (Information Analysis Center) ศูนย์แนะแหล่งสารสนเทศหรือศูนย์ถามต่อ (Referral Center)

             การจัดตั้งศูนย์สารสนเทศเป็นพัฒนาการของห้องสมุดเฉพาะ เกิดขึ้นในช่วงที่มีกระแสสารสนเทศท่วมท้น แต่ขาดประสิทธิภาพในการจัดเก็บและเรียกใช้ดูข้อมูลเฉพาะสาขาวิชา ดังนั้นศูนย์สารสนเทศจึงจำกัดขอบเขตสาขาวิชาให้อยู่ในวงแคบเพื่อรวบรวมสารสนเทศให้ได้ลึกซึ้งและครบถ้วน

             ศูนย์สารสนเทศมีพื้นฐานการดำเนินงานคล้ายห้องสมุดแต่มีความแตกต่างจากห้องสมุดคือ

             1. ศูนย์สารสนเทศทำหน้าที่คัดเลือก รวบรวมสารสนเทศที่มีขอบเขตเนื้อหาเฉพาะเจาะจงลึกซึ้งกว่าห้องสมุด เช่น ศูนย์สารสนเทศทางข้าว ศูนย์สารสนเทศด้านวัสดุและเทคนิคการหีบห่อ เป็นต้น

             2. ศูนย์สารสนเทศเน้นการจัดเก็บสะสมและบริการเอกสารสิ่งพิมพ์ประเภทรายงานการวิจัย รายงานการประชุมสัมมนา สิ่งพิมพ์ทางการค้า สิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่ในวงจำกัด แต่ห้องสมุดเน้นการเก็บสะสมและบริการสิ่งพิมพ์เป็นรูปเล่ม เช่น หนังสือ วารสาร เป็นต้น

             3. ศูนย์สารสนเทศมีบริการเฉพาะเจาะจงถึงตัวผู้ใช้และให้บริการตามความต้องการของผู้ใช้มากกว่าห้องสมุด

             4. บุคลากรศูนย์สารสนเทศมักเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชา (Subject specialist) มีความรู้ในเนื้อหาวิชาสาขานั้นซึ่งเรียกว่า นักเอกสารสนเทศ (Information specialist) บุคลากรของห้องสมุดเป็นบรรณารักษ์ซึ่งศึกษาทางด้านบรรณารักษศาสตร์และมีความรู้กว้างไม่เฉพาะเจาะลึก

             5. ศูนย์สารสนเทศจัดหาเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกในการสืบค้นและเผยแพร่สารสนเทศ เช่น สร้างฐานข้อมูลและจัดทำสาระสังเขปตลอดจนจัดทำสารสนเทศใหม่ จึงสามารถให้บริการและเผยแพร่สารสนเทศได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าห้องสมุด

ศูนย์สารสนเทศ เป็นต้นแหล่งจัดเก็บและรวบรวมเอกสารเฉพาะสาขาวิชาหรือเฉพาะเรื่อง ที่มิได้พิมพ์เผยแพร่ทั่วไป เช่น

  • รายงานการประชุม
  • รายงานการวิจัยรายงานเชิงวิชาการ (research reports, technical reports)
  • เอกสารเฉพาะของหน่วยงานของรัฐบาลและเอกชน เป็นต้น
  • วารสารและวารสารวิจัย (periodicals)
  • สิ่งพิมพ์ของสถาบัน (institutional publications)
  • รายงานการประชุมทางวิชาการหรือเอกสารประชุม (conference proceedings / symposia)
  • จุลสาร (pamphlet)
  • นามานุกรม หรือ ทำเนียบนาม (directories)               

        ตัวอย่างศูนย์สารสนเทศในประเทศไทย

             สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

             ศูนย์ข้อมูลมติชน

             ศูนย์ข้อมูลไทยศึกษา

             ศูนย์ข้อมูลทางเทคโนโลยี (สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น))

             ศูนย์ข้อมูลพลังงานแห่งชาติ (สำนักงานพลังงานแห่งชาติ)

             ศูนย์ข้อมูลพัฒนาภาคเหนือ (สมาคม Y.M.C.A)

             ศูนย์ข้อสนเทศการวิจัย (สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ)

             ศูนย์สารสนเทศสิรินธร (มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

             ศูนย์เอกสารแห่งประเทศไทย (สถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)