เกี่ยวกับภาควิชา

ประวัติภาควิชา

เกี่ยวกับภาควิชา

ประวัติภาควิชา

ประวัติในยุคเริ่มแรก

จุดเริ่มต้นในการจัดตั้งภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2508 หอสมุดกลางในนามของคณะมนุษยศาสตร์ได้จัดให้มีการเรียนการสอนวิชา บร.107: การใช้หนังสือและห้องสมุด (LS107: Use of Books and Library) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อให้ความรู้นักศึกษาเกี่ยวกับการใช้ห้องสมุดเพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้ห้องสมุดอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพโดยให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ใช้เวลาในการเรียนสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง (1 หน่วยกิต) บุคลากรที่รับผิดชอบในการสอนช่วงนั้นเป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ 1 คน (อาจารย์วิไล ปานพลอย ตำแหน่งอาจารย์โท ในระยะนั้น นอกจากการสอนแล้วท่านยังดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองห้องสมุดด้วย) และอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ที่มีวุฒิทางวิชาบรรณารักษศาสตร์ 1 คน (อาจารย์กรรณิการ์ บุนนาค อาจารย์ตรี ในระยะนั้น) นอกนั้นเป็นบรรณารักษ์หอสมุดกลางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีก 3 คน

ศาสตราจารย์ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และอาจารย์ผู้ร่วมงานทางวิชาการห้องสมุดมีความเห็นพ้องกันว่าน่าจะได้มีการจัดตั้งภาควิชาบรรณารักษศาสตร์เพื่อผลิตบัณฑิตสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่กำลังมีความต้องการอย่างยิ่ง (วิไล ปานพลอย, 2524) ศ. ม.ล.ตุ้ย ชุมสาย (2532 อ้างถึงใน รัตนา ณ ลำพูน, 2552) กล่าวไว้ว่า “การจัดให้มีการสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ ขึ้นในคณะมนุษยศาสตร์ก็เพราะบรรณารักษ์มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะดูแลห้องสมุดในประเทศไทย” คำกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้บริการองค์กรทางการศึกษาเห็นถึงความสำคัญของศาสตร์นี้ เนื่องจากห้องสมุดเป็นแหล่งสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาหรือการยกระดับคุณภาพของมนุษย์ ซึ่งเป็นไปตามหลักคิดประการหนึ่งในการดำเนินงานของคณะมนุษยศาสตร์ประการหนึ่งว่า “สาขาวิชาใดก็ตามที่จะให้คุณภาพของความเป็นมนุษย์สูงขึ้น จะจัดให้มีการสอนขึ้นในคณะมนุษยศาสตร์”

การจัดให้มีการสอนวิชาบรรณารักษศาสตร์ ขึ้นในคณะมนุษยศาสตร์ก็เพราะบรรณารักษ์มีจำนวนไม่เพียงพอที่จะดูแลห้องสมุดในประเทศไทย

ในช่วงพ.ศ. 2507 – 2512 ศาสตราจารย์ ดร. ม.ล.ตุ้ย ชุมสาย ขอร้องให้ รองศาตราจารย์วิไล ปานพลอยกลับคืนคณะฯ เพื่อเตรียมจัดตั้งภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ และขณะนั้นท่านก็ยังต้องรับผิดชอบงานหอสมุดกลางด้วย จากนั้นสภาการศึกษาแห่งชาติได้อนุมัติการจัดตั้งภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ในคณะมนุษยศาสตร์ โดยให้การเห็นชอบเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2511 และตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “การแบ่งภาควิชาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2511 กำหนดให้ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์เป็นภาควิชาหนึ่งในคณะมนุษยศาสตร์ จัดเป็นภาควิชาที่จัดตั้งขึ้นเป็นลำดับที่ 5 ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ในที่สุดภาควิชาสามารถเปิดรับนักศึกษาวิชาเอกบรรณารักษ์ศาสตร์ตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2511 (รับโอนนักศึกษารหัส 10) คณาจารย์ในยุคเริ่มแรกนี้มี 3 ท่านได้แก่

  1. อาจารย์วิไล ปานพลอย คุณวุฒิ อบ. อนุปริญญาวิชาบรรณารักษศาสตร์ M.L.S
  2. อาจารย์ฟองนวล สักการเวช คุณวุฒิ กศ.บ. M.A. in L.S.
  3. อาจารย์สุภาพ สุจินดา คุณวุฒิ อบ. อนุปริญญาวิชาบรรณารักษศาสตร์ M.L.S

พ.ศ. 2514 คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนได้ลงมติรับรองปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (บรรณารักษศาสตร์) ของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่าเป็นปริญญาซึ่งสามารถบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาเข้ารับราชการตาม6(2) แห่งกฎ ก.พ. ฉบับที่ 622 (พ.ศ. 2513) ตามหนังสือ สร.0903/43923 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2514

พ.ศ. 2522 ได้มีพระราชกฤษฎีกาว่าด้วย ปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ และเข็มวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ไว้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2522 มาตรา 4 ข้อ (6) กำหหนดให้ปริญญาในสาขาวิชาศิลปะศาสตร์ ข้อ (ค) ปริญญาตรีเรียกว่า “ศิลปศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ศศ.บ.” และให้ระบุชื่อวิชาเอกในวงเล็บต่อท้ายปริญญาด้วย ฉะนั้นผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิชาเอกบรรณารักษศาสตร์ จากคณะมนุษยศาสตร์ จึงใช้อักษรย่อว่า ศศ.บ. (บรรณารักษศาสตร์)

พ.ศ. 2524 คณะมนุษยศาสตร์ได้เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาต่าง ๆ รวม 10 สาขาวิชาเอก นักศึกษาสามารถเลือกวิชาอื่น ๆ เป็นวิชารองและวิชาเลือกได้ นักศึกษาสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์เช่นเดียวกันสามารถเลือกเรียนเป็นวิชาอื่น ๆ เป็นวิชารอง และวิชาเลือกเสรีได้


พ.ศ. 2531 – 2540

การพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีในการเรียนการสอน

ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานในโครงการUpdating Information Sciences Education in Thai Universities โดยได้รับงบประมาณสนับสนุน 4 ล้านบาทจาก The International Development Research Centre (IDRC) ประเทศแคนาดาเป็นเวลา 3 ปีระหว่างพ.ศ. 2534-2536 ผลจากโครงการนี้ทำให้คณาจารย์ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ทั้ง 3 มหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้เข้ารับการอบรม ดูงาน ประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ทัศนศึกษาห้องสมุดและศูนย์สารสนเทศ รวมทั้งศึกษาต่อในต่างประเทศ นอกจากนี้ทั้ง 3 มหาวิทยาลัยดังกล่าวยังได้รับงบประมาณจัดซื้อคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นับว่า เป็นสถาบันจัดการเรียนการสอนบรรณารักษศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทยที่มีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ พ.ศ.2534

พ.ศ.2541-2550

การปรับปรุงหลักสูตรระดับปริญญาตรี

สืบเนื่องจากการที่คณาจารย์ของภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ได้มีการเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ ทักษะทางเทคโนโลยีรวมถึงความรู้ทางสารสนเทศศาสตร์ อีกทั้งการมีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของภาควิชาซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าร่วมในโครงการ Updating Information Sciences Education in Thai Universities ภาควิชาฯจึงได้ปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต จากสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์

ปี พ.ศ. 2530 หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์ ได้มีปรับปรุงใหม่ และผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมกรรมการคณะ ในการประชุมครั้งที่ 13/2529 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2529 ซึ่งขณะนั้นคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ คือ อาจารย์วัฒนะ สุขสมัย เป็นผู้ลงนาม เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2530

ปี พ.ศ. 2543 ปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต โดยเปลี่ยนชื่อสาขาวิชาเป็น สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Bachelor of Arts Program in Information Studies ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะ ในการประชุมครั้งที่ 4/2542 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2542 ขณะนั้น รองศาสตราจารย์ทัศนา สลัดยะนันท์ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ ปฏิบัติราชการแทนคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ เป็นผู้ลงนามเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2542

    หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา นี้ใช้ชื่อปริญญาดังนี้
  • ชื่อปริญญาภาษาไทย
    • ชื่อเต็ม ศิลปศาสตรบัณฑิต (สารสนเทศศึกษา)
    • ชื่อย่อ ศศ.บ. (สารสนเทศศึกษา)
  • ชื่อปริญญาภาษาอังกฤษ
    • ชื่อเต็ม Bachelor of Arts (Information Studies)
    • ชื่อย่อ B.A. (Information Studies)

หลังจากปรับปรุงหลักสูตรแล้ว Dr. Hwa-Wei Lee ได้ดำเนินการให้ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “ทิศทางกลยุทธ์สำหรับการศึกษาและวิชาชีพสารสนเทศ (Strategic Direction for Information Studies and the Profession) เมื่อวันที่ 17-18 ตุลาคม 2544 ณ โรงแรมปางสวนแก้ว

การจัดประชุมวิชาการนานาชาติ (เอเชีย-แปซิฟิก) ด้านบรรณารักษศาสตร์ และสารสนเทศศาสตร์

ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ OCLC Asia Pacific (Online Computer Library Center Asia Pacific), IFLA Regional Office (Information Federation of Library Associations and Institutions, Regional Office) และมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน (ฟุลไบร์) (Thailand – U.S. Educational Foundation) ได้จัดการประชุมนานาชาติ (เอเชีย-แปซิฟิก) ด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ เรื่อง “ความท้าทายและโอกาสของห้องสมุดและนักวิชาชีพสารสนเทศด้านการจัดการความรู้กับยุคดิจิทัล (Challenge and Opportunities for Library and Information Professional in Knowledge Management and the Digital Age)” เมื่อวันที่ 20-22 มีนาคม 2546 ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่หน่วยงานรับผิดชอบการผลิตบัณฑิตด้านบรรณารักษศาสตร์ องค์กรด้านสารสนเทศ (OCLC และ IFLA) และองค์กรที่สนับสนุนการศึกษา (ฟุลไบร์)ได้จัดประชุมดังกล่าว

การจัดประชุมระดับชาติด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์

วัตถุประสงค์ของการจัดประชุมครั้งนี้เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่รับผิดชอบการผลิตบัณฑิตด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ สารสนเทศศึกษา การจัดการสารสนเทศ ตลอดจนผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในสถาบันสารสนเทศได้รับทราบแนวโน้มคุณสมบัติของนักสารสนเทศ รวมทั้งการเตรียมการเพื่อพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมในระดับสากล

ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ร่วมกับเครือข่ายสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ จึงได้จัดการประชุมวิชาการระดับชาติเรื่อง “บัณฑิตสารสนเทศสำหรับสังคมฐานความรู้: ความต้องการ คุณภาพ และความคาดหวัง” เมื่อวันที่ 18-19 มีนาคม 2547 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ ดร. หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย อาคาร 7 ชั้น 8 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา นายกสภาพจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ให้เกียรติกรุณาเป็นองค์ปาฐกในการปาฐกถาพิเศษ “สังคมฐานความรู้กับพันธกิจของนักสารสนเทศ” ซึ่งท่านได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของนักสารสนเทศในสังคมฐานความรู้ไว้ว่า

“.... นักสารสนเทศจะมีบทบาทใหม่เพิ่มเติมจากเดิมเป็นอันมาก การดำเนินงานของนักสารสนเทศจะช่วยให้มีการกระจายความรู้ ถึงประชาชน ท่านทั้งหลายต้องสร้างพลังให้แก่นักวิชาการและ นักวิชาชีพ ให้เป็นนักวิชาการและนักวิชาชีพที่ดี แต่ขณะเดียวกัน ต้องสร้างพลังให้แก่ประชาชนด้วย ท่านทั้งหลายที่อยู่ในจุดต่าง ๆ ต้องมีบทบาทนี้ในสังคมสารสนเทศยุคใหม่ ท่านทั้งหลายที่ดูแล ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ขอให้นึกถึงโรงเรียนยากจนที่ห่างไกล ในชนบทด้วย นักสารสนเทศในสังคมความรู้ยุคที่ 2 นี้จะต้องเปิด ใจกว้าง ปรับปฏิสัมพันธ์ให้สามารถอยู่ในระนาบเดียวกับนักวิชาการ นักบริหาร นักจัดการ นักปฏิบัติและบุคคลทั่วไป โดยเข้าร่วมเป็น หุ้นส่วน เป็นพันธมิตรกับผู้อื่น สามารถนำความรู้เฉพาะที่มีเป็นพิเศษ ในด้านของท่านของแต่ลพคนเข้าไปผสมผสานกับผู้อื่น ด้วยความเข้าใจ ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน นักวิชาการต้องเคารพประชาชน ประชาชนต้องเคารพนักวิชาการด้วยกัน จึงจะสามารถเรียนรู้ ไปด้วยกัน ทำให้เกิดองค์กรที่เรียนรู้ร่วมกัน เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ...” (จรัส สุวรรณเวลา, 2547)

พ.ศ. 2551-2557

ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2551 สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้อนุมัติการปรับโครงสร้างองค์กรของคณะมนุษยศาสตร์จาก 11 ภาควิชา เป็น 3 ภาควิชาคือ ภาควิชาภาษาตะวันออก ภาควิชาภาษาตะวันตก และภาควิชามนุษยศาสตร์ ดังนั้นภาควิชาบรรณารักษศาสตร์จึงได้รับการปรับสถานภาพเป็นสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์นับแต่นั้น

ปี พ.ศ. 2556 ภาควิชาฯ ได้ปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา ให้สอดรับและทันกับสถานการณ์ภายนอกและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้พัฒนาไปเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งเป็นแนวคิดการขับเครื่องเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ (Knowledge) การศึกษา การสร้างสรรค์งาน และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม (Wisdom) และเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ (Technology and Information) ซึ่งประเทศไทยจะต้องตระหนักและเร่งปรับโครงสร้างการผลิตและการบริการอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Creative and Green Economy)

สาขาวิชาสารสนเทศศึกษาจึงวางปรัชญาและวัตถุประสงค์ของหลักสูตรไว้ว่า “มุ่งมั่นที่จะสร้างบัณฑิตที่สามารถบูรณาการความรู้ความสามารถในการจัดการสารสนเทศ บริการสารสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นผู้พร้อมที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและคำนึงถึงสังคม และสามารถนำประโยชน์จากที่ได้เรียนรู้ไปใช้อย่างมีคุณธรรมและจริยธรรม”

แบบฟอร์มสมัครงาน
https://www.unitedluxury.net

CMU

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Copyright © 2018 Chiang Mai University, All rights reserved.
by Department of Library and Information Science.

ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
239 ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200

ติดต่อสอบถาม Tel. 053-943238-40
Fax. 053-943267